TEM | งานทั้ง 4 ประเภท

หลังจากได้รู้จักความเป็นมาของ The Eisenhower Matrix และรู้จักกันแบบคร่าวๆ แล้ว วันนี้มาทำความรู้จักงานทั้ง 4 ประเภทแบบละเอียดมากขึ้นอีกนิดดีกว่า

งานประเภทที่หนึ่ง: ทั้งสำคัญ และเร่งด่วน

งานประเภทนี้ต้องการการลงมือทำอย่างรวดเร็ว เป็นงานที่มีเดดไลน์ ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยอื่น หรือคนอื่น หรืออาจจะเป็นงานที่เราหลีกเลี่ยงที่จะทำมันมาเรื่อยๆ จนถึงเวลาที่จำเป็นจริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะมาจากไหนมันก็ต้องการการทำทันที

ตัวอย่างงานสำคัญ และเร่งด่วน

  • ต้องมาทำงานแทนเพื่อนที่ลาป่วย
  • รถติดบนถนนจากอุบัติเหตุด้านหน้า
  • ท่อน้ำในห้องครัวแตกทำให้น้ำท่วมห้องครัว
  • ลูกค้ามาคอมเพลน
  • หัวหน้าจ่ายงานด่วน

งานประเภทนี้เป็นงานที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันเป็นงานสำคัญ ถึงปัญหาอาจจะไม่ได้มาจากตัวเรา แต่เมื่อมาถึงตัวเราแล้วก็ต้องทำงานแบบนี้ให้สำเร็จให้ได้

งานประเภทนี้ถ้ามีมาบ่อยๆ อาจจะทำให้เบิร์นเอาท์ได้ ถ้ามีบ่อยๆ อาจจะต้องหาสาเหตุที่จะหลีกเลียง

ประเภทที่สอง: สำคัญ แต่ไม่เร่งด่วน

งานที่ไม่เร่งด่วน แต่สำคัญคืองานที่จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายระยะยาวได้ เป็นงานที่อาจจะไม่มีเดดไลน์ หรือบางครั้งอาจจะเป็นงานที่ต้องทำไปตลอด จึงมักเป็นงานที่ถูกมองข้าม และถูกเลื่อน หรือยกเลิกไปเมื่อถูกงานเร่งด่วนมาแทรก แต่งานประเภทที่สองนี้แหละ คืองานที่ส่งผลต่อเป้าหมายของคุณมากที่สุด

man wearing black and white stripe shirt looking at white printer papers on the wall
Photo by Startup Stock Photos on Pexels.com

ตัวอย่างงานสำคัญ แต่ไม่เร่งด่วน

  • วางแผนการทำโปรเจ็ค
  • งานตรวจเช็คทั่วไป (Preventive Maintenance)
  • สร้างคอนเนคชั่นกับคนอื่น
  • เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการทำงาน
  • ออกกำลังกาย หรือการดูแลสุขภาพในแต่ละวัน

Steven Covey บอกไว้ว่างานประเภทที่ 2 นี้แหละที่เราควรให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะมันคืองานที่ส่งผลระยะยาว และจะช่วยพัฒนาตัวเรา คนที่รู้จักการให้ความสำคัญกับงานประเภทนี้คือคนที่มีความคิดในเชิงรุก หรือเรียกว่า Proactive นั่นเอง รวมถึงเป็นคนมองการณ์ไกลมองเห็นเป้าหมายระยะยาวของตัวเองด้วย ข้อดีของงานประเภทนี้คือคุณสามารถทำงานประเภทนี้โดยปราศจากความกดดันเพราะมันไม่เร่งด่วนนั่นเอง และข้อดีของการให้ความสำคัญกับงานประเภทนี้อีกอย่างก็คือ ในระยะยาวจะทำให้งานประเภทที่หนึ่ง หรืองานที่ทั้งสำคัญ และเร่งด่วนลดลงด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าคุณเอารถเข้าศูนย์ตรวจเช็คเป็นระยะ โอกาสที่รถคุณจะเสียกลางถนนก็จะลดลง

งานประเภทที่สาม: ไม่สำคัญ แต่เร่งด่วน

งานประเภทนี้ส่วนใหญ่แล้วจะมาจากคนอื่นที่ส่งมาให้เราทำ ซึ่งน่าจะเดาได้ไม่ยากว่างานประเภทนี้นอกจากจะทำให้คุณงานยุ่งอย่างไม่มีเหตุผลแล้ว ยังไม่ได้ส่งผลต่อเป้าหมายระยะยาวของคุณเลย หรือส่งผลน้อยมากๆ

ตัวอย่างงานที่ไม่สำคัญ แต่เร่งด่วน

  • การถูกรบกวนจากเพื่อนร่วมงาน
  • การเปิดดูโทรศัพท์ ทั้งๆ ที่พึ่งจะเช็คไปเมื่อ 5 นาทีที่แล้ว
  • การตอบข้อความ อีเมล หรือโพสบนโซเชียลในข้อความที่ไม่ได้สำคัญอะไร
  • การเข้าประชุมบางหัวข้อที่ควรจะส่งอีเมลก็ได้

งานประเภทที่สามที่แหละ คือ Mere Urgency Effect ที่เราพูดถึงกันในบทก่อนหน้านี้ มันคืองานทั่วๆ ไปที่เข้ามาในแต่ละวัน ส่วนใหญ่เป็นงานเร่งด่วนแต่อาจจะเป็นงานของคนอื่น และบางครั้งเป็นงานที่คุณไม่ได้อยากทำ การทำงานประเภทนี้มากๆ จะเหมือนกับคุณไม่ได้ควบคุมชีวิตของตัวเอง

Steven Covey ก็ได้แนะนำเกี่ยวกับงานประเภทนี้ว่าเราควรแจกจ่ายงานประเภทนี้ให้คนอื่นทำให้ได้มากที่สุด หรือแม้แต่การนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยก็ได้เช่นกัน

positive students doing homework together
Photo by Armin Rimoldi on Pexels.com

ถ้าคุณไม่สามารถแจกจ่ายให้คนอื่นทำได้จริงๆ ก็ลองทำแบบนี้

  • ปิดเสียง ปิดการแจ้งเตือนจากแอพต่างๆ ตอนกำลังทำงาน
  • ทำความเข้าใจกับเพื่อนร่วมงานที่เอางานเข้ามาแทรกว่าเรามีเวลาทำได้ตอนไหน และใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ ไม่ควรมากกว่านี้
  • วางแผนสำหรับงานประเภทนี้ไว้ทำตอนท้ายๆ หลังจากที่ทำงานสำคัญๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่ควรเริ่มทำในตอนเช้าที่ยังมีแรง
  • ต่อรองกับหัวหน้าเรื่องปริมาณงานที่ได้รับ
  • ลองปฎิเสธดูบ้าง

ประเภทที่สี่: ทั้งไม่สำคัญ และไม่เร่งด่วน

พูดง่ายๆ คืองานที่ทำไปก็เสียเวลาเปล่าๆ ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อเป้าหมายในชีวิตคุณเลย แต่อาจจะเป็นสิ่งที่กินเวลาได้เป็นวันๆ

ตัวอย่างงาน หรือกิจกรรมประเภทนี้ งานไม่สำคัญ และไม่เร่งด่วน

  • ดูทีวี ดูซีรี่เป็นชั่วโมงๆ
  • เช็คหน้าจอเล่นโซเชียลไปเรื่อยๆ แบบไร้จุดหมาย
  • การนั่งเคลียร์อีเมล แทนที่จะตอบอีเมลสำคัญๆ
  • การช้อปปิ้ง หรือซื้อของลดราคาออนไลน์

โดยปกติแล้วงานประเภทนี้สามารถทำไปได้เรื่อยๆ โดยไร้จุดหมาย

แต่อย่าพึ่งเข้าใจผิด คนเราต้องการการพักผ่อนแน่นอนอยู่แล้ว แม้แต่ Eisenhower ผู้คิดค้น The Eisenhower Matrix เองก็มีช่วงเวลาพักผ่อนอย่างการตีกอล์ฟในออฟฟิศเช่นกัน แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้จักการแบ่งเวลาให้การพักผ่อน ไม่อย่างนั้นกิจกรรมพวกนี้นี้แหละจะกินเวลา และพลังงานของคุณไปจนหมด จนไม่เหลือให้กับงานที่ควรจะทำจริงๆ

มีการศึกษาพบว่าในคนทำงานที่มีการทำกิจกรรมอย่างออกกำลังกาย หรือเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้อื่นจะส่งผลให้มีแรงบันดาลใจในการทำงานมากขึ้นในวันถัดไป หรือพนังานที่พักผ่อนโดยการเล่นโยคะ การทำสมาธิ หรือฟังเพลงจะมีแนวโน้มที่จะใจเย็น และสงบมากขึ้น แต่กิจกรรมเหล่านี้จะส่งผลดีเมื่อทำในปริมาณที่พอดีๆ ถ้าทำกิจกรรมเหล่านี้มากเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อผลการทำงานเช่นกัน

โดยสรุปสำหรับงานทั้งสี่ประเภทนี้คือ พยายามลดงานประเภทที่หนึ่ง โดยการให้ความสำคัญกับงานประเภทที่สองให้มากๆ และพยายามลดงานประเภทที่สามโดยการแจกจ่ายให้คนอื่นทำ หรือปฏิเสธไปบ้าง และพยายามหลีกเลี่ยงงานประเภทสุดท้ายให้มากที่สุด

By |2021-01-26T00:54:59+07:002021-01-19|Tags: , |Comments Off on TEM | งานทั้ง 4 ประเภท

ตัวอย่างไฟล์ Apple ProRAW และ Halide ProRAW+

สำหรับใครที่กำลังตัดสินใจซื้อ iPhone 12 Pro เพื่อมาถ่ายไฟล์ ProRAW วันนี้ผมมีตัวอย่างไฟล์ ProRAW จากกล้อง iPhone 12 Pro และ ProRAW+ จากแอพ Halide มาให้ลองเอาไปแต่งกัน เทียบกับไฟล์ HEIC จากกล้อง iPhone รุ่นปกตินะครับ ว่าเมื่อนำไปแต่งบน Lightroom หรือแอพแต่งรูปอื่นแล้วจะเห็นความแตกต่างมากขนาดไหน

ProRAW จะใช้ฟอร์แมตเป็น DNG เหมือนกับไฟล์ RAW จากมือถือทั่วไปขนาดไฟล์ประมาณ 20-28 MB ส่วน HEIC คือไฟล์ที่ถ่ายได้จาก iPhone รุ่นปกติ รูปขนาด 12 MP จะมีขนาดไฟล์ประมาณ 2-4 MB ครับ

สำหรับไฟล์ ProRAW+ ของ Halide อาจจะไม่ได้ต่างจาก ProRAW ปกตินะครับ เพราะ ProRAW+ คือการรวมไฟล์ DNG และ JPG ไว้ในช็อตเดียว แต่ไฟล์ที่ผมอัพโหลดมาให้นี้มีแค่ DNG นะครับ

รูปตัวอย่างที่ 1 ProRAW, ProRAW+
รูปตัวอย่างที่ 2 ProRAW, ProRAW+

ดาวน์โหลดตัวอย่างไฟล์ ProRAW

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ProRAW และ ProRAW+ สามารถอ่านได้ที่บทความเก่า ถ่ายภาพ RAW เพื่อนำไปปรับแต่งต่อ และไฟล์ RAW, ProRAW+ และการปรับแต่ง Instant RAW

By |2021-01-26T00:55:04+07:002021-01-18|Tags: , , |Comments Off on ตัวอย่างไฟล์ Apple ProRAW และ Halide ProRAW+

Halide | มาลองถ่าย Manual ดูบ้าง

ในบางครั้งภาพที่เราต้องการอาจจะไม่ได้มาจากการถ่ายในโหมด Auto เช่นการลด ISO และเปิด Speed Shutter ให้นานขึ้นเพื่อให้ได้ภาพที่ชัด และลด Noise ในตอนกลางคืน หรือการเพิ่ม Shutter Speed เพื่อให้ได้ภาพวัตถุเคลื่อนไหวแบบเบลอๆ ให้อารมณ์ของภาพอีกแบบ โหมด Manual เหล่านี้สามารถปรับได้ใน Halide ครับ

ก่อนหน้านี้เราเคยพูดถึง Auto Focus และ Manual Focus แต่คราวนี้พูดถึง Manual Exposure นะครับ

การเปิดใช้งานโหมด Manual ทำได้โดยการ Swipe จากขอบจอด้านขวาในช่องมองภาพของ Halide หรือแตะที่ไอคอนจากมุมขวาด้านบนสุดของจอก็ได้ ในโหมด Manual นี้ผู้ใช้สามารถ Swipe แนวตั้งเพื่อปรับความเร็วชัตเตอร์ Shutter Speed และ Swipe แนวนอนเพื่อปรับ ISO ครับ

สำหรับค่า ISO คือการเพิ่มความไวแสง โดยที่ไม่ต้องถือกล้องนานๆ แต่ยิ่งค่า ISO สูง Noise ในภาพก็จะสูงขึ้นด้วย
ส่วน Speed Shutter คือการเปิดรูรับแสงของกล้องค้างไว้เพื่อรับภาพ ยิ่งนานภาพก็จะยิ่งชัด และสว่างขึ้น แต่การเปิด Speed Shutter นานๆ ต้องมั่นใจว่าเราถือกล้องให้นิ่งด้วย ถ้ากล้องไม่นิ่งก็มีความเสี่ยงที่ภาพจะเบลอครับ โดยกล้องของ iPhone ตอนนี้สามารถเปิด Speed Shutter ได้นานที่สุด 1 วินาทีเท่านั้นครับ ส่วนเร็วที่สุดก็ 1 ส่วน 8000 ของ 1 วินาที

ทั้งสองค่านี้จะต้องปรับคู่กัน ถ้าเพิ่ม ISO ก็สามารถลด Speed Shutter ในกรณีที่ใช้มือถ่าย หรือถ้าเรามีขาตั้งกล้องก็สามารถลด ISO ให้ต่ำแล้วเปิด Speed Shutter ให้นานๆ ได้ ถ้าปรับทั้งสองค่าสูงภาพก็จะออกมาจ้าเกิน หรือถ้าปรับทั้งสองค่าต่ำภาพก็จะออกมามืดนั่นเอง

ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับการฝึกซ้อม ไม่มีโหมดไหนใช้งานได้กับทุกสถานการณ์ สำคัญคือต้องลองถ่ายรูป และปรับแต่งบ่อยๆ ครับ

By |2021-01-26T00:55:08+07:002021-01-17|Tags: , , |Comments Off on Halide | มาลองถ่าย Manual ดูบ้าง

Halide | Depth Mode, Portrait Mode

สำหรับ iPhone รุ่นใหม่ๆ ที่มีกล้องหลังอย่างน้อยสองกล้อง และ Lidar scanner ของ iPhone 12 Pro และ Pro Max ที่สามารถวัดระยะของวัตถุได้ดี ทำให้ iPhone ตอนนี้นอกจากจะสามารถถ่ายโหมด Portrait ได้ดีแล้วยังมีอีกความสามารถคือการวัดระยะความลึกของภาพได้ดีด้วย

วันนี้เรามาทำความรู้จัก Depth mode ของ Halide กันครับ โหมดที่จะดึงความสามารถของกล้อง iPhone ออกมาอีกขั้น รวมถึงโหมด Portrait ก็สามารถถ่ายได้บน Halide ด้วยเช่นกัน

สามารถเปิด Depth Mode ได้จากไอคอนใก้ลกับปุ่มชัตเตอร์

Depth Mode ของ Halide ช่วยให้ผู้ใช้สามารถถ่ายรูปก่อนแล้วค่อยเปิด Portrait ในรูปภาพหลังได้ด้วย

เพื่อให้การถ่าย Portrait ได้แม่นยำขึ้น ก่อนกดชัตเตอร์แนะนำให้แตะที่วัตถุ หรือคนที่ต้องการโฟกัสเพื่อให้ iPhone รู้ว่าควรจะโฟกัสที่จุดไหน ในโหมดนี้ Halide จะเพิ่มเอฟเฟค Portrait ของตัวเองเข้าไปในรูป และผู้ใช้สามารถเพิ่ม Portrait ของกล้อง iPhone ได้ด้วยเช่นกัน สามารถทำได้โดยการแก้ไขรูปภาพในแอพ Photos

ใน Halide จะแยกระหว่างโหมด Depth และ Portrait ออกจากกัน โดยค่าเริ่มต้นจะเปิดใช้งานทั้งสองโหมด ผู้ใช้สามารถเลือกปิด Portrait แล้วเหลือเฉพาะโหมด Depth ได้ซึ่งโหมด Depth จะช่วยในเรื่องมิติของภาพ และการปรับความเบลอของฉากหลังครับ ในการถ่าย Depth Mode ตัวแอพ Halide จะแสดงการสแกนภาพเป็นระยะเพื่อตรวจว่าจะโฟกัสจุดไหน และเบลอจุดไหน ผู้ใช้สามารถกดที่ไอคอน Depth Map ที่อยู่ด้านซ้ายของปุ่มชัตเตอร์เพื่อเปิดดูเอฟเฟคนี้ตลอดเวลาได้ด้วย

ไอคอน Depth Map เปิดใช้งานเพื่อดูว่า iPhone มองเห็นอะไรในภาพ และจุดไหนที่โฟกัส และจุดเบลอของภาพ

ข้อมูลความลึก (Depth) สามารถดูได้จากหน้าพรีวิวรูปของ Halide โดยรูปที่ถ่ายในโหมด Depth และ Portrait จะมีไอคอน Depth และ Matte แสดงข้อมูลส่วนนี้

iPhone XR และ iPhone SE 2020 สามารถถ่าย Depth Mode ได้ด้วยแต่ตอนถ่ายจะไม่มีตัวอย่างให้ดู

ข้อสำคัญของการถ่าย Depth หรือ Portrait ให้สวยคือพยายามให้วัตถุ หรือคนมีความแตกต่างจากพื้นหลังให้ได้มากที่สุด เพื่อความแม่นยำในการคำนวนของกล้องครับ

By |2021-01-26T00:55:14+07:002021-01-15|Tags: , , |Comments Off on Halide | Depth Mode, Portrait Mode

Halide | รู้จัก White Balance

White Balance คือการที่ตัวกล้องจะชดเชยค่าแสงของกล้องให้เข้ากับแสงของสถานที่นั้น เช่นถ้าสถานที่ถ่ายใช้หลอดไฟสีอมเหลือง กล้องก็จะเพิ่มสีฟ้าเข้าไปทดแทน เมื่อถ่ายภาพออกมาสีฟ้าที่ถูกเพิ่มเข้ามาจะเข้าไปช่วยชดเชยส่วนสีฟ้าของภาพที่ถูกแสงสีเหลืองกลบไป จึงเป็นที่มาของคำว่า White Balance นั่นเอง

Halide มีความสามารถในการปรับ White Balance ให้อัตโนมัติอยู่แล้ว แต่ในบางครั้งผู้ใช้อาจจะต้องการ White Balance ที่แตกต่างจากที่แอพแนะนำให้ เช่นในกรณีที่ต้องการได้ภาพที่แปลกตา หรือในบางกรณีตัวแอพเองก็อาจจะคำนวนผิดพลาดได้เช่นกัน อย่างกรณีการเกิดไฟป่าที่ภาพทั้งภาพจะมีสีส้มของไฟป่ารวมถึงท้องฟ้าด้วย กรณีนี้ตัวแอพเองก็อาจจะคำนวนพลาดได้ ผู้ใช้จึงจำเป็นต้องล็อค White Balance ไว้ที่ Daylight

การเปลี่ยน White Balance บน Halide ทำได้โดยการกดที่ปุ่ม AWB ที่ Quick Bar

โหมด White Balance ของ Halide ก็มีให้เลือกเหมือนกล้องทั่วไปได้แก่ Outdoor Sunny, Outdoor Cloudy, Indoor Fluorescent, Indoor Warm

White Balance อาจจะเป็นฟังก์ชั่นที่ไม่ได้ใช้บ่อยนักสำหรับมือใหม่ เพราะโดยปกติตัวกล้องเองสามารถอ่านค่าแสงได้ดีอยู่แล้ว แต่ในบางกรณีก็มีความจำเป็นเหมือนกัน ลองเอาไปปรับใช้กันดูนะครับ

By |2021-01-26T00:55:21+07:002021-01-13|Tags: , , |Comments Off on Halide | รู้จัก White Balance

Halide | Histogram และการอ่านค่าเบื้องต้น

สำหรับ Halide ตัว Histogram จะไม่ได้เปิดใช้มาในค่าเริ่มต้น สามารถเปิดได้จาก Quick Bar อีกเหมือนเดิม โดย Histogram มีให้เลือกทั้งแบบย่อ และขนาดใหญ่แล้วแต่ความต้องการของผู้ใช้ โดยสามารถสลับโหมดของ Histogram ได้จากปุ่มบน Quick Bar โดยการกดแต่ละครั้งจะเป็นการเปลี่ยนโหมดครับ

สำหรับวิธีอ่านค่า Histogram เบื้องต้น ด้านซ้ายของกราฟหมายถึงส่วนมืดของภาพ (Shadows) ส่วนด้านขวาจะหมายถึงส่วนสว่างของภาพ (Highlights) สิ่งที่ควรสังเกตุคือพยายามไม่ให้ค่าด้านใดด้านหนึ่งสูงเกินไป ถ้าด้านซ้ายสูงหมายถึงภาพโดยรวมมืด ถ้าด้านขวาสูงก็หมายถึงภาพสว่าง และถ้ากราฟด้านไหนสูงเกินไปก็หมายถึงเราจะเสียรายละเอียดในส่วนนั้นของภาพไปนั่นเองครับ เช่นถ้ากราฟด้านขวาสูงเกินไปก็หมายถึงภาพสว่างจ้าจนอาจจะมาปรับแต่งภายหลังไม่ได้

ลักษณะของ Histogram ของภาพที่ดีก็คือพยายามให้กราฟมีความสูงเท่าๆ กันทั้งซ้าย กลาง และขวา

วิธีการปรับภาพเบื้องต้นคือการปรับ Exposure ให้ได้ค่าที่ต้องการโดยการสไลด์หน้าจอขึ้น หรือลงบนช่องมองภาพ คือการปรับ Exposure ครับ ตอนที่ปรับ Exposure ก็ลองดูกราฟว่าเปลี่ยนไปยังไงบ้างก็อาจจะทำให้เข้าใจ Histogram มากขึ้นครับ

ทิป: นอกจากกดที่ไอคอน Histogram บน Quick Bar แล้ว ผู้ใช้ยังสามารถกดที่ตัวกราฟได้ด้วยเพื่อเปลี่ยนโหมด Histogram จากโหมดมืดสว่าง เป็นโหมดสี RGB เพื่อรายละเอียดมากขึ้นด้วยครับ

สำหรับ Histogram คือตัวช่วยอ่านค่าเบื้องต้นเท่านั้นนะครับ ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญมากจนลืมรายละเอียดของภาพไป บางครั้งภาพที่เราถ่ายอาจจะต้องการความมืด หรือสว่างมากกว่าค่าทัวไปขึ้นอยู่กับความต้องการสื่อสารภาพนั้นของผู้ถ่ายครับ

By |2021-01-26T00:55:26+07:002021-01-12|Tags: , , , |Comments Off on Halide | Histogram และการอ่านค่าเบื้องต้น
Go to Top